ควรจะให้ลูกไปเริ่มเรียนขี่ม้าที่ไหนดี – ????

คงต้องเขียนตอบคำถามยอดฮิตที่ญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จักหรือแม้กระทั่งไม่รู้จักสอบถามเข้ามาตลอดห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผมก็ต้องตอบคำถามแบบฉายหนังซ้ำเกือบทุกรอบไป แต่ก็มีบ้างครับที่มีปัจจัยที่แตกต่างกันบ้างที่เป็นองค์ประกอบของการเสาะหาสถานที่เรียนขี่ม้าให้ลูกหลานได้อย่างถูกใจแต่ละคน

ขอเริ่มจากสโมสรยอดฮิต คือ ชมรมขี่ม้าทหารม้ารักษาพระองค์ หรือ คนชอบติดปากกัน เรียกว่า “มอ”  หลายคนคงงง ว่า อะไรคือ “ม.” ??? ผมขอเฉลยก่อนเลยแล้วกันครับ    “ม.” มาจากคำว่า ร้อย.ม.รอ. หรือกองร้อยทหารม้ารักษาพระองค์ ซึ่งในอดีต(ก่อนปี พ.ศ.2530) จะมีโรงเรียนสอนขี่ม้า ในกรุงเทพฯ อยู่แค่ 2 ที่เท่านั้น คือ ที่ “ม.” กับ “โปโล” (ราชกรีฑาสโมสร โปโลคลับ) ต่อมาภายหลัง ร้อย.ม.รอ. ได้รับอนุมัติ จากกองทัพบก ให้ขยายอัตราการจัด จากหน่วยทหารระดับกองร้อยเป็นกองพัน คือ กองพันทหารม้าที่ 29 หรือกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ในปัจจุบันนั่นเอง…… กลับมาเข้าเรื่องครับ ที่ “ม.” เนี่ย เป็นอย่างไร ? ดีมั๊ย ? ผมก็ต้องขอตอบว่า “ดีครับ” สถานที่แห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของนักกีฬาขี่ม้าระดับแนวหน้าของเมืองไทย จะว่าทุกคนก็ว่าได้ ไม่มีใครที่ไม่เคยมาเรียนขี่ม้าที่ “ม.” เพราะอย่างที่บอกว่า สมัยก่อน มีเรียนกันอยู่แค่ 2 ที่ ซึ่งโปโลเป็นสโมสรปิด เรียนได้เฉพาะ Member เท่านั้น แถมระเบียบข้อบังคับก็ค่อนข้างแสนจะยุ่งยากบนพื้นฐานที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกส่วนใหญ่ ซึ่งมีทั้ง ไฮโซ และไฮซ้อ มันก็จะออกแนวเยอะๆ จึงส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มรูปแบบ กระทบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วน “ม.” นั้น เป็นหน่วยทหาร มีม้าซึ่งเป็นม้าหลวง มีงบประมาณดูแล มีทหารเลี้ยงม้า ฝึกม้า และนำม้ามาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีระเบียบชัดเจนในการเรียนการสอน ซึ่งใครที่มาเรียนที่นี่ ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนทหารอย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่ เรื่องการผ่านเข้าออกสถานที่ราชการ สมาชิกทุกคนก็ต้องทำบัตรผ่านเข้าออก ทั้งยานพาหนะ และบุคคล ซึ่งก็จะต้องผ่านการตรวจทุกครั้ง ตลอดจนเวลาในการเรียนการสอน ก็กำหนดชัดเจนเป็นรอบรอบ ใครจองชั้นเรียนไว้ มาช้าไป 15 นาที น้องม้าก็จะถูกสั่งให้นำกลับคอก ก็ต้องอดขี่ม้าไปตามระเบียบ ในส่วนของม้า เนื่องจากเป็นม้าหลวง ทำได้หลายภารกิจ ไม่ว่าจะเข้าขบวนสวนสนาม ฝึกยิงปืนบนหลังม้า ขี่ม้าประกอบดนตรี กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางในธรรมชาติ ตลอดจนงานบุญ ขันหมาก แห่นาค และอีกหลายๆงานตามแต่ได้รับมอบภารกิจ เพราะฉะนั้น ใครที่จะมาเรียนต้องไม่คาดหวังว่า ม้าที่นี่จะเป็นม้ากีฬาชั้นดีที่จะเข้าแข่งขันกีฬาต่างๆของสมาคมฯในระดับสูงๆได้ หรือคาดหวังว่าจะแข่งศิลปะการบังคับม้าแล้วได้จะได้คะแนนความสวยงามสูงๆจากกรรมการตัดสิน แต่อย่างน้อย “ม้าที่นี่” ส่วนใหญ่ที่นำมาให้บริการก็จะเป็นม้าที่สามารถใช้เรียนรู้ขั้นพื้นฐานได้ และอีกอย่าง คือ ราคาค่อนข้างย่อมเยาว์ เพราะเป็นนโยบายของกองทัพบก ที่ให้คิดค่าบริการถูกๆ เพื่อให้บุคคลพลเรือนภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมในค่ายทหารได้ อีกอย่างที่เป็นจุดแข็งและได้เปรียบสโมสรขี่ม้าอื่นๆ คือ สถานที่ตั้งอยู่กลาง กทม. คือ ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพียง 1 กม.เท่านั้น แต่อีกอย่างที่ต้องบอกไว้ก่อน คือที่นี่ “ครูดุ” เพราะครูทุกคนเป็นทหาร โดยเฉพาะขึ้นชื่อว่าทหารม้าทีมีคุณสมบัติเฉพาะของเหล่า คือ เป็นคนโผงผาง เพราะฉะนั้น  พวกลูกคุณหนู คุณนาย ทั้งหลาย ต้องทำใจยอมรับให้ได้ อีกเรื่องนึง ที่เป็นข้อจำกัดของโรงเรียนขี่ม้าทหาร เพราะเป็นม้าทหาร จึงไม่มีม้าเล็ก ม้าโพนี่ ไว้สำหรับให้บริการ ดังนั้นเด็กๆ ก็ต้องขี่ม้าตัวสูงใหญ่ ซึ่งบางครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ มันก็จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างรุนแรงและบาดเจ็บมากกว่า ขี่ม้าเล็ก ซึ่งทางโรงเรียนขี่ม้าเอกชนส่วนใหญ่จะมีไว้รองรับสำหรับสอนขี่ม้าให้กับเด็กๆครับ

ต่อไปจะพูดถึงโรงเรียนขี่ม้าของเอกชนกันบ้าง เป็นที่น่ายินดีสำหรับกีฬาขี่ม้าในบ้านเรา ที่ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนขี่ม้าผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วประเทศ ในเมืองท่องเที่ยวมีเกือบทุกจังหวัด ถ้านับกันเฉพาะในกรุงเทพ ก็ไม่ต่ำกว่า 20 สโมสร ซึ่งก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป โดยรวมแล้วถ้าเอาแค่การสอนพื้นฐานแล้ว ก็จะมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเราจะให้ลูกเราเริ่มที่ไหนก็ได้ ในความเห็นผมเอาที่สะดวกไว้ก่อน เพราะในกรุงเทพมหานคร ต้องยอมรับว่า ปัญหาการจราจรติดขัดมีส่วนอย่างมาก ในการพาลูกไปเรียนขี่ม้าแต่ละครั้ง เพราะฉะนั้นปัจจัยในเรื่อง Location ก็เป็นสิ่งสำคัญในการใช้พิจารณาอีกปัจจัยนึง ส่วนถ้าเรียนไปแล้ว เด็กอยากมีพัฒนาการต่อที่จะเป็นนักกีฬาประเภทใด ประเภทนึง ค่อยมาสอบถามกันในเชิงลึกหลังไมค์อีกทีครับ เพราะก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ปัจจัยปริมาณกับคุณภาพมันมักผกผันสวนทางกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม โรงเรียนสอนขี่ม้าก็เช่นกัน มีเพิ่มขึ้นเยอะก็จริง แต่ไอ้ที่มีประสิทธิภาพสามารถต่อยอดต่อในเชิงกีฬา ก็ยังมีอยู่ไม่มาก ประกอบกับครูฝึกม้า หรือครูสอนขี่ม้า ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพไปเสียทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าเป็นครู มันก็ควรจะผ่านการเรียนการสอนเพื่อที่จะมาเป็นครู แต่นี่ก็ยังเห็นเอาพวกน้องๆทหารเกณฑ์ที่เพิ่งปลดประจำการไปทำหน้าที่ครูฝึกสอนม้า  โดยอาศัยว่าเคยเลี้ยงม้า เคยขี่ม้าได้ มาอุปโหลกขึ้นเป็นครูสอนขี่ม้า ก็เห็นมีเยอะหลายที่ สรุปคือพวกเอาง่ายไว้ก่อน เอามัน เอาฮาไป ทั้งๆที่ปัจจุบัน สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ก็ส่งเสริมและพยายามที่เชิญชวนให้คนเหล่านี้เข้ามาอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนทั้งในระดับประเทศและ ในระดับสากลโดยสมาพันธ์ขี่ม้านานาชาติเข้ามาจัดการอบรมให้ แต่เวลาเขาจัดกิจกรรมกัน ก็ไม่ค่อยมาร่วมกัน อาจจะติดขัดเรื่องภาษา เวลา หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่าย ในการเข้ารับการอบรมแต่ละครั้ง ก็ว่ากันไป แต่ก็แอบหวังว่าในอนาคตเมื่อมีความต้องการของตลาดมากขึ้น และสูงขึ้น พวกที่เรียกตัวเองว่าครูต่างๆก็จะหันมาให้ความสำคัญและหาความรู้ใส่ตัวเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะไปสอนคนอื่นเขา หรือก่อนที่จะไปรับผิดชอบชีวิตลูกชาวบ้านเขา อะไรทำนองนั้น

สรุปสุดท้าย ถ้าถามผม ผมยังเชียร์ให้เลือกเรียนขี่ม้าขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนสอนขี่ม้าใกล้บ้าน หรือ ใกล้โรงเรียน ที่ผู้ปกครองสะดวก แต่ถ้าไม่อยากมีค่าใช้จ่ายที่บานปลายในช่วงต้น และสะดวกที่จะเดินทางมาที่ “มอ” หรือ ชมรมขี่ม้าทหารม้ารักษาพระองค์ สนามเป้า ก็ยังคงแนะนำว่า ว่าสถานที่แห่งนี้ ก็ยังเป็นโรงเรียนสอนขี่ม้าหลักของประเทศไทย ที่สามารถรองรับจำนวนนักเรียน ได้มากถึงวันละ 80 – 100 คน สถานที่กว้างขวาง เดินทางสะดวก ไปมาได้หลายวิธี ขึ้นรถไฟฟ้าลงสถานีสนามเป้าก็ถึงเลย เดินผ่านป้อมยามทหารเข้ามาไม่ถึง 500 เมตร ม้าก็มีให้เลือกเยอะ แต่ก็ต้องยอมรับกับปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดที่ผมเกริ่นให้ทราบไว้ตอนต้น ส่วนคุณพ่อคุณแม่ท่านใดมีกำลังและอยากส่งเสริมลูกให้เป็นนักกีฬาต่อไปในอนาคต และมีความพร้อมเรื่องปัจจัย คงต้องขออนุญาตติดต่อเข้ามาคุยกันเป็นการส่วนตัวครับ เพราะโลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและโลกมันแคบลง ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ เราอาจจะไม่ต้องเริ่มจากหว่านเมล็ดเพื่อหวังผลรับประทาน ซึ่งใช้เวลานานเหมือนแต่ก่อน แต่เราสามารถสั่งของออนไลน์สำเร็จรูปมาให้ลูกเรารับประทานได้ ทั้งพันธุ์ไทยและพันธ์เทศ โดยใช้เวลาแทบอึดใจครับ

เกือบลืมครับ สำหรับข้อมูลโรงเรียนสอนขี่ม้า ทุกท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.vrhorseman.com/ridingschool/

ถ้าจะดูขี่ม้าให้สนุก ต้องเข้าใจกติกา

ถ้าจะดูขี่ม้าให้สนุก อย่างแรกต้องเข้าใจกฎกติกา เสียก่อน…

กีฬาขี่ม้าสากล ภายใต้การควบคุมโดย สมาพันธ์ขี่ม้านานาชาติ ( Federation Equestri a n International ) แบ่งออกเป็น 7 ประเภทกีฬา คือ Dressage, Show jumping, Eventing, Driving, Vaulting , R eining และ Endurance เป็นต้น แต่ใน โอลิมปิกเกมส์ นั้นบรรจุเพียง 3 ประเภทแรกเท่านั้น สมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย ( Thailand Equestrian Federation ) จึงได้กำหนด ให้มีการแข่งขันในเฉพาะ 3 ประเภทดังกล่าวคือ Dressage, Show jumping, Eventing ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะได้เคยผ่านตามาบ้าง ไม่มากก็น้อย กลับมาที่คำถามที่ว่า จะดูขี่ม้ายังไงให้สนุก ? ถ้าจะดูขี่ม้าให้สนุกอย่างแรกต้องเข้าใจ กฎ, กติกา เสียก่อน คงเหมือน กับกีฬาอื่น ๆ ทั่วไป เอาเป็นว่าเรามาค่อย ๆ ทำความรู้จักกีฬาขี่ม้าทีละประเภท กันดีกว่า

Dressage หรือ ที่เรียกว่า ศิลปะการบังคับม้า
เมื่อ กล่าวถึงกีฬาประเภทนี้ อยากให้ผู้อ่านลองนึกภาพ การขี่ม้าที่ผู้ขี่แต่งกายสวย ๆใส่ชุดทักซิโด้, หมวกทรงสูง ( Top Hat ) ตลอดจนมีการถักเปียที่ขนแผงคอม้าและที่หางเป็นต้น ผู้แข่งขันจะบังคับม้าของตนปฏิบัติตามคำสั่งที่กรรมการได้แจกจ่ายไปไว้ ก่อนล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนฝีเท้าม้าในการวิ่งตามจุดบังคับต่างๆ รวมถึงลักษณะการย่างก้าวของม้า ซึ่งใครบังคับม้าของตนได้อย่างสวยงาม แต่ละท่าทางได้เข้าตากรรมการมากกว่ากัน คนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ เฉกเช่นเดียวกับ กีฬายิมนาสติก ประเภท Floor Exercise ซึ่งบางครั้งไม่ง่ายนักที่จะเดาใจกรรมการได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ สำหรับกีฬาประเภทนี้เรา ๆ ในส่วนของคนดู คงได้แต่เอาใจช่วยนักกีฬาและม้าที่เราชื่นชอบ เท่านั้นแหละครับ ส่วนการตัดสินแพ้ชนะ ปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรมการเขาดีกว่า เพราะถ้าผลคะแนนออกมาไม่ตรงกับใจเราจะเกิดกรณี ? ม้าแพ้คนไม่แพ้ ? ขึ้นมาอีก ซึ่งมีให้เห็นกันบ่อยในบ้านเรา

Showjumping หรือ การขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง
กีฬาประเภทนี้ ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วไป เป็นอย่างมาก เพราะมีความสนุก, ตื่นเต้น, เร้าใจ ตลอดจนเข้าใจง่าย ศึกษา กฎ กติกา คร่าว ๆ ก็พอจะเข้าใจ ซึ่งหลักจริง ๆ มีอยู่ไม่เท่าไหร่ สามารถลองให้คะแนนเอง ร่วมไปกับกรรมการได้ อีกทั้งเมื่อผู้เข้าแข่งขัน แข่งเสร็จในแต่ละคนผู้บรรยายสนามจะสรุปคะแนนให้ฟัง ซึ่งผู้ชมสามารถจดบันทึกตามไปด้วย ประกอบการชมการแข่งขัน จะทำให้เกิดอรรถรสในการชมการแข่งขันมากยิ่งขึ้นไปด้วย โดยกติกาง่าย ๆ โดยเริ่มจากผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีคะแนนเสียเท่ากัน คือ 0 คะแนนในตอนเริ่ม โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำม้าของตน กระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ตามหมายเลขเครื่องและแบบของสนาม ซึ่งผู้ออกแบบสนาม(Couse Designer) เป็นผู้ออกแบบไว้ จนครบ โดยใครที่มีคะแนนเสียน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

ทีนี้ลองมาดูกันครับว่า คะแนนเสียในการแข่งขันเกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง
– คะแนนเสียจากการกระโดด
– ม้าเตะเครื่องตกพื้น ซึ่งจะมีคะแนนเสียเครื่องละ 4 คะแนน โดยเครื่องตกกี่เครื่อง ก็คูณ 4 เข้าไป
– ม้าปฏิเสธเครื่อง โดยเบรคหน้าเครื่องกีดขวาง หรือ หลบออกทางข้างทั้งซ้ายและขวา โดย ถ้าปฏิเสธครั้งที่ 1 จะเสีย 4 คะแนน เช่นเดียวกับเตะเครื่องตก แต่ถ้าเกิดปฏิเสธครั้งที่ 2 แสดงว่าม้าไม่พร้อมที่จะแข่งขัน ต่อไป ต้องถูกให้ออกจากการแข่งขัน ( Elimination )
– คะแนนเสียจากการใช้เวลาเกิน ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ผู้บรรยายสนาม จะประกาศให้ทราบถึง เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน ด้วยกัน 2 ประเภทเวลา คือ
– เวลาที่ยินยอม ( Time Allowed ) ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำเวลาในการผ่านจากเส้นเริ่มต้น ( Start Line ) จนถึงเส้นจบ ( Finish Line ) น้อยกว่าเวลา Time Allowed ที่กำหนด แต่ถ้าใช้เวลาเกิน จะมีคะแนนเสียเพิ่มขึ้น อีก 4 วินาทีต่อ 1 คะแนน ยกตัวอย่างเช่น Time Allowed คือ 97 วินาที แต่ นาย ก กับม้า A ทำเวลาได้ 99วินาที ซึ่งเกิน Time Allowed 2 วินาท(อยู่ใน 4 วินาทีแรก) ก็จะทำให้ นาย ก กับม้า A มีคะแนนเสียเพิ่มจากคะแนนเสียจากการกระโดด อีก 1 คะแนน …ใน Case เดียวกัน หาก นาย ข กับม้า B ทำเวลาได้ 103 วินาที ซึ่งเกิน Time Allowed 7 วินาที (อยู่ใน 4 วินาทีที่สอง) ก็จะทำให้นาย ข กับม้า B มีคะแนนเสียเพิ่มจากการกระโดด อีก 2 คะแนน เป็นต้น
– Time Limit หรือเวลาที่กำหนดจะเท่ากับ 2 เท่าของ Time Allowed ยกตัวอย่างเช่น Time Allowed เท่ากับ 97 วินาที ดังนั้น Time Limit จะเท่ากับ 194 วินาที เป็นต้น ผู้ขี่ม้าจะต้องทำเวลาได้ภายใน Time Limit ที่กำหนด ถ้าเกินแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียวจะต้องออกจากการแข่งขัน (Elimination)
– ถ้าผู้เข้าแข่งขันตกม้า ต้องถูกออกจากการแข่งขัน( Elimination)

Eventing อีเวนท์ติ้ง
เป็นประเภทกีฬาขี่ม้าที่รวม เอา ทั้ง Dressage และ Show jumping มารวมกัน โดยเพิ่มในส่วนของ Cross Country หรือ การขี่ม้าในภูมิประเทศเข้าไปด้วย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกีฬาว่ายน้ำประเภทผสม ซึ่งมีการรวมเอาหลายท่าไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อ, Freestyle , กรรเชียงและกบมาแข่งขัน เฉกเช่นเดียวกับที่ Eventing กำหนดให้ผู้ขี่และม้าตัวเดิมจะต้องผ่านทั้ง Dressage, Cross Country และ Show jumping ในด่านสุดท้ายซึ่งใครที่ผ่านทั้ง 3 ด่านแล้วมีคะแนนเสียน้อยที่สุด จะเป็นผู้ชนะ กีฬาประเภทนี้ไม่สามารถแข่งจบภายในวันเดียว เพราะฉะนั้นผู้ชมจะต้องทราบผลคะแนนของแต่ละประเภท ของนักกีฬาและม้าแต่ละคน โดยดูได้จากบอร์ดคะแนน ซึ่งเมื่อกรรมการรวมคะแนนเสร็จแล้วจะนำมาประกาศภายหลังจากจบการแข่งขันในแต่ ละประเภทเพื่อให้ทราบทั่วกัน โดยเริ่มจากการแข่งขันใน Dressage ซึ่งการแข่งขันก็จะเหมือนกับ Dressage ทั่วไป เพียงแต่เอาคะแนนที่ทำได้ ลบด้วยคะแนนเต็มทั้งหมด ซึ่งจะเป็นคะแนนเสียสะสม ซึ่งจะไปรวมกับ คะแนนเสียในส่วนของ Cross Country ซึ่งม้า จะต้องวิ่งไปตาม Couse Plan ที่ผู้ออกแบบสนาม ได้กำหนดไว้และกระโดดข้ามเครื่องขวางที่ถูกสร้างขึ้นในภูมิประเทศที่แตกต่าง กันไป โดยที่ผู้ขี่และม้ามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธเครื่องได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะถูกตัดคะแนน 20 คะแนน ในครั้งที่ 3 จะถูกให้ออกจากการแข่งขัน โดยจะปฏิเสธในเครื่องกีดขวางเครื่องเดียวกันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ปฏิเสธครั้งที่ 1 คงเสีย 20 คะแนน ถ้ายังปฏิเสธครั้งที่ 2 อีกก็จะ เสียคะแนนเพิ่มอีก 40 คะแนน ถ้ายังมีครั้งที่ 3 ต้องถูกให้ออกจากการแข่งขัน ส่วนการตกม้าใน Cross Country นั้น ไม่อนุญาติให้มีการตกม้า ต้องออกจากการแข่งขันเท่านั้น โดยรายละเอียดของกติกาค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร ถ้าจะศึกษากันจริง ๆ จะต้องเข้าอบรมเพราะรายละเอียดจะมีค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนใหญ่ผลแพ้ชนะ ผู้ชมสามารถมาลุ้นเอาที่ประเภทสุดท้าย คือ Show jumping ได้ โดย ขอทราบรายละเอียดคะแนนของ 2 ประเภทแรกได้จากกรรมการ แล้วนำมาคิดรวม กับคะแนนเสียใน Show jumping วันสุดท้าย ซึ่งหลักการคิดในปัจจุบัน FEI. ปรับ ให้มีการคิดคะแนนเหมือนใน Show jumping ทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ไม่สับสน ต่างกันนิดหน่อยตรงที่การคิดคะแนนเสียจากการใช้เวลาเกิน Time Allowed มีคะแนนเสียเพิ่ม วินาทีละ 1 คะแนน และถ้ามีการตกม้า ต้องออกจากการแข่งขัน Eliminate

สำหรับในรายละเอียดของกติกา ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจที่จะทราบ สามารถติดตามได้จาก

http ://www.horsesport.org/fei/discover/discover_02_01.html/

เรียนรู้สัจธรรมชีวิตกับ “หัวโขน”

ชีวิตคนไทยสมัยก่อนไม่เพียงแต่รู้จักหัวโขนในเชิงศิลปะเท่านั้น แต่ยังได้ซึมซับเนื้อหาสาระเรื่องราวที่ผู้แสดงนำมา เล่นตามบทบาทในท้องเรื่อง ซึ่งเป็นเสมือนภาพสะท้อนของสังคมไทยเฉพาะด้านการปกครองที่ตัวแสดงต้องเล่น เป็นตัวบุคคล ดำรงตำแหน่งฐานะต่างๆที่มีความสำคัญลดหลั่นกันไป โดยมีหัวโขนเป็นสิ่งกำหนดบ่งบอกให้รู้ และหากถอดหัวโขนออก ตัวแสดงทุกตัวก็จะมีลักษณะเหมือนมนุษย์ธรรมดาใกล้เคียงกันทันที คนไทยแต่ก่อนจึงนำ “หัวโขน” มาเปรียบเทียบใช้เป็นเครื่องมือเตือนสติผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีอำนาจเหลือล้นทั้งหลายว่าเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยั่งยืนถาวร เป็นเสมือน \”หัวโขน\” ที่สวมอยู่เท่านั้น เมื่อพ้นตำแหน่ง คือถอดหัวโขนเสียเมื่อใด ก็จะไม่มีสิ่งสมมุติใดหลงเหลืออยู่เลย นอกจากความเป็นสามัญอันเป็นสิ่งปกติธรรมดาของสรรพสิ่งโดยทั่วไป

“อันหัวโขน เขามีไว้ ใส่ครอบหัว
มิใช่ตัว เราจริงจัง ดังที่เห็น
เขามีบท กำหนดแจ้ง แสดงเป็น
เมื่อเลิกเล่น อย่าหลงผิด คิดว่าเรา
ทั้งหน้าพระ ยักษ์ลิง สิ่งสมมติ
ทั้งเดินหยุด รำเต้น เล่นตามเขา
หมดเวลา ลาโรง จงถอดเอา
หน้าโขนเก่า เก็บไว้ ใช้หน้าจริง
ในเวที ชีวิต มีมิตรไว้
มีน้ำใจ ไมตรี ดีกว่าหยิ่ง
เพื่อนสนิท มิตรสหาย ไว้พึ่งพิง
พระยักษ์ลิง ควรคิดย้อน สอนตัวเรา..”

ตำนานการขี่ม้าแต่ครั้งโบราณ

ตำนานการขี่ม้าแต่ครั้งโบราณ มนุษย์ได้นำม้ามาใช้เป็นพาหนะขับขี่นับแต่โบราณ กาล แต่จะเริ่มจับม้าป่านำมาใช้ขี่ในปีหรือสมัยใดนั้น เป็นการยากที่จะหาหลักฐานให้ทราบโดยชัดเจนได้ น ิทานปรัมปราของชาวกรีกกล่าวถึงเซนเตาร์อันเป็นลักษณะของสัตว์ประหลาด ต ัวเป็นม้าหัวเป็นคน รามเกียรติ์ของอินเดียซึ่งชาวไทยเรารู้เรื่องดีอยู่ก็ปรากฏสัตว์ประหลาดนั้น ได้แก่ม้ารีศ มีตัวเป็นม้าแต่หัวเป็นยักษ์ นักขี่ม้าผู้สนใจในประวัติการขี่ม้าได้สันนิษฐานว่า เซนเตาร์ของกรีกและม้ารีศของอินเดีย หาใช่สัตว์ประหลาดอย่างใดไม่ แ ต่เป็นคนขี่ม้าธรรมดานั่นเอง ม ีความชำนาญในการขี่ม้าเป็นพิเศษและมีชีวิตใกล้ชิดอยู่กับม้าตลอดเวลาไม่ห่าง กันเลย ค นโบราณถือโชคลางภูตผีปีศาจและเทวดา กล่าวถึงเซนเตาร์และม้ารีศ จึงเป็นไปในทำนองผิดธรรมชาติ รวมเอาคนกับม้าเป็นชีวิตเดียวกันเสีย จ ะได้เกิดความประหลาดมหัศจรรย์เหมาะกับคนในสมัยนั้น

หลักฐานที่พอจะนำมาพิจารณาให้ทราบถึงความ สัมพันธ์ ระหว่างม้ากับมนุษย์นั้นจะหาได้จากรูปเขียน รูปสลักหินโบราณ ซ ึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ของโลกปรากฏว่าชาวอียิปต์และชาวกรีกโบราณ ซึ่งยกย่องม้าว่าเป็นสัตว์อันสูงศักดิ์ นำม้ามาเทียมรถศึกใช้ทำการรบ ด้วยความมุ่งหมายเช่นเดียวกับที่เราใช้รถถังในสมัยนี้ หนังสือไอเลียดของโฮเมอร์ ชาวกรีก อ ันเป็นวรรณคดีสำคัญของชาวกรีกโบราณประมาณพันปีก่อน ค .ส. บรรยาย ความงดงามสง่าของบรรดาเทพเจ้าและผู้กล้าหาญต่าง ๆ บ นรถศึกเทียมม้าแต่ถึงกระนั้นก็ตามไม่ปรากฏว่าในสมัยนั้นทั้งชาวอียิปต์และ กรีกได้ใช้ม้าสำหรับขี่เป็นพาหนะ

 

ในสมัยเดียวกัน ศิลปการขี่ ม้าได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในทวีปเอเชียแล้ว ศ ิลาสลักแผ่นหนึ่งซึ่งอังกฤษสกัดแกะออกจากผนังปราสาทที่เมืองนินิเวท์ของพระ เจ้านิมรอด และบัดนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกฤษ แ สดงให้เห็นพระราชาออกล่าสัตว์ทรงม้า ม้าทรงเป็นม้าลักษณะดีเลิศศีรษะเล็กได้ส่วนสวยงาม พ ระราชาก็ทรงม้าได้สง่าสวยงามและเห็นได้ชัดเจนว่าทรงสามารถบังคับม้าได้ดี ยิ่ง แม้ว่าจะวิ่งเต็มฝีเท้า ก็อาจทรงสังหารเนื้อสมันข้างหน้าได้ ม ีมหาดเล็กติดตามสองนาย นายหนึ่งถือลูกธนูสำรอง อีกนายหนึ่งถือหอกของพระราชา เ ครื่องม้าที่ใช้นั้นไม่ผิดกับที่มีใช้ในปัจจุบันนักขาดแต่อานม้าซึ่งยังไม่ เป็นสิ่งรู้จักกันในสมัยนั้น พ ระราชาทรงประทับอยู่บนผ้าปูหลังซึ่งมีลวดลายปกอย่างงดงามมหาดเล็กขี่ม้าหลัง เปล่า

ศิลปะการขี่ม้าได้แพร่หลายเข้าไปในทวีปยุโรป จนราว ๔๐๐ ปี ก่อน ค.ศ. อัศวินผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีกผู้หนึ่งมีนามว่า เซโนโฟน ไ ด้เขียนหนังสือเกี่ยวกับม้าและการขี่ม้าขึ้น นับเป็นหนังสืออันเป็นหลักฐานชุดแรกที่ตกทอดถึงชนรุ่นหลังในสมัยนี้ หนังสือเล่มแรกของ เ ซโนโฟน การขี่ม้าบรรจุข้อความ ๑ ๒ บท กล่าวถึงการขี่ม้าในเรื่องต่างๆ เช่น การเลือกม้า การปฏิบัติบำรุง การเตรียมฝึก การฝึก ก ารข้ามดูและกำแพง และตลอดจน การฝึกม้าชั้นสูงบางอย่างซึ่งในสมัยนี้เราเรียกว่า การขี่ม้าชั้นสูง นอกจากนั้น เซโนโฟน ยังได้กล่าวถึง ก ารมีมือดีในการขี่ม้า ซึ่งเป็นศิลปะสำคัญยิ่งด้วย

ผู้ขี่คุมสติไว้ได้ นับว่าเป็นปัจจัยที่ดี และนิสัยอันเลิศ ความโมโหหุนหันจะทำให้เป็นผู้ปราศจากเหตุผล แ ละนำให้ทำสิ่งซึ่งจะทำให้เสียใจในภายหลัง ในเมื่อม้าแสดงความหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งขัดขืนไม่เข้าใกล้ผู้ขี่จะ ต้องทำให้ม้าเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย โ ดยเฉพาะในเมื่อม้าตัวนั้นเป็นม้าที่กล้าตัวหนึ่งมาเสมอ ทั้งนี้โดยให้ผู้ขี่เดินเข้าไปยังสิ่งที่ม้ากลัวและจับต้อง ค รั้นแล้วจูงม้าเข้าไปยังสิ่งนั้นอย่างสงบเงียบผู้ขี่ซึ่งข่มบังคับม้าโดย อำนาจแส้เท่านั้น จ ะยิ่งทำให้ม้าตื่นยิ่งขึ้น เ พราะม้าจะนึกว่าความเจ็บที่ตนได้รับนั้น เนื่องมาจากสิ่งที่ตนกลัวนั้นเอง

หนังสือเล่มสองของเซโนโฟน ผู้บังคับทหารม้า ก็ยังทันสมัยอยู่เช่นเดียวกับเล่มแรก ๆ โ ดยกล่าวถึงวิธีการฝึกม้าให้เหมาะกับงานที่ต้องใช้ ได้แก่ ม้าสำหรับทหารม้า หลักการอันนี้ยังเป็นหลักการที่นักขี่ม้าทั้งหลายยึดถืออยู่จนสมัยปัจจุบัน นี้

หลังจากเซโนโฟนถึงสองพันปี จึงปรากฏหนังสือเกี่ยวกับการขี่ม้าขึ้นอีกระหว่างเวลานั้น หาได้ปรากฏหนังสือชนิดนี้ขึ้นอีกไม่ นอกจากปลูตาด ได้เขียนเล่าการขี่ม้าของจูเลียดซีซ่าร์ ว่า ขี่ม้าโดยปราศจากเครื่องม้าได้งดงามชำนิชำนาญนัก ช าวโรมันในสมัยนั้นมีทหารม้าเป็นปึกแผ่นและได้รับการฝึกเป็นอย่างดี ในการรบปฏิบัติอยู่ทางปีกของทหารราบ

หลังราชอาณาจักรโรมันพินาศไปแล้ว หน่วยทหา รเคลื่อนที่บนหลังม้ายิ่งทวีความสำคัญยิ่ง ส่วนทหารราบกลับเสื่อมลงทุกที ก องทัพของพระมหาจักรพรรดิ์ชาลมานประกอบด้วยทหารม้าเป็นส่วนมาก ตลอดสมัยกลางนักรบผู้ขี่ม้าจึงเป็นเอกอยู่ในสนามยุทธ ทั้งในดินแดนยุโรปและทั่วไป ส มัยกลางเป็นศตวรรษของอัศวินแห่งสงคราม ค รูเสดนักรบใส่เกราะหนาเข้าทำการประลองฝีมือตามเมืองสำคัญต่าง ๆ เ พื่อหาชื่อเสียงตำแหน่งยศ ด ังนั้นจึงเป็นของธรรมดาที่มาตรฐานการขี่ม้าและการฝึกม้าของอัศวินนักรบเหล่า นั้น ต้องอยู่ในระดับสูงจนถึงฝึกและขี่ม้าชั้นสูง แ ต่เนื่องด้วยเหล็กบังเหียน เดือย และเครื่องม้าอื่น ๆ มีราคาแพงมากจะให้มาตรฐานการขี่ม้าอยู่ในระดับสูงอย่างแท้จริงจึงเป็นไปได้ ยาก

สมัยกลางผ่านไป ประมาณ ปลายศตวรรษที่ ๑๕ จึงปรากฏทฤษฎีการขี่ม้าใหม่ขึ้นอีก หลังจากสมัยโซโนโฟน น ับเป็นระยะเวลาห่างกันถึงสองพันปี แ ต่เป็นทฤษฎีผิดแปลกกันราวฟ้ากับดินข้อความตอนหนึ่งของหนังสือแต่ง โ ดยชาวปารีสนามว่ารอเรนดตอุสราติอุส จัดพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๕๓๓ ม ีว่า ด ังนี้

ม้าพยศต้องปราบให้เชื่อง โ ดยขังไว้ในคอกนาน ๔ ๐ ว ัน เ วลานำมาขี่ต้องใส่เดือยใหญ่และแส้ที่แข็งแรง หรือมิฉะนั้นผู้ขี่ต้องถือท่อนเหล็กยา วประมาณ ๓ ? ๔ ฟุต ป ลายมีขอแหลม สามแฉก ถ้าม้าขัดขืนไม่เคลื่อนไปข้างหน้า ผ ู้ขี่จงใช้ขอแหลมนั้นแทงขาม้าแล้วลากให้มาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าให้จงได้ ค วรให้ผู้ช่วยคนหนึ่งเอาเหล็กร้อนจี้ตรงใต้หางม้า ในขณะเดียวกันนั้น ผ ู้ขี่ลงเดือยให้แรงที่สุดเต็มกำลังที่มีอยู่

อย่างไรก็ตามหนังสือของ รอเรนติอุสราสิอุส หาได้โหดร้ายไปทั่วเล่มไม่ เพราะปรากฏว่า รู้จักใช้บังเหียนปากอ่อนสำหรับฝึกม้าใหม่ และรู้จักมือดีเหมือนกัน

โรงเรียนขี่ม้าที่ดีมีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้น ได้แก่ โรงเรียนขี่ม้าเนเปิล ชาวอิตาเลียน ชื่อ เซซาเร เพียสกี้ เป็นผู้จัดตั้งริเริ่มโรงเรียนนี้ขึ้น เป็นที่รู้จักทั่วไปตลอดทวีปยุโรป นานาประเทศพากันส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการขี่ม้าในโรงเรียนนี้ อาทิ ปลูวิเนล และเดอลาบลูแห่งกองทัพฝรั่งเศสเป็นที่รับกันโดยทั่วไปว่า โรงเรียนนี้เป็นสถานศึกษาแห่งแรกที่ได้วางหลักการต่าง ๆ สำหรับการขี่ม้า ซึ่งบรรดาประเทศทั่วไปได้ใช้เป็นรากฐานแก่งศิลปะการขี่ม้าและดัดแปลงแก้ไข ให้เหมาะสมครบถ้วนมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

โรงเรียนขี่ม้าเนเปิล เจริญรุ่งเรืองอยู่ตลอดศตวรรษที่ ๑๖ เซซาเรเพียสกี้ ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งขึ้นใน ค.ศ.๑๕๓๙ สอนการทำวงด้วยวิ่งเรียบและวิ่งโขยก วิ่งเรียบช้า พาสเซศ และ ฯลฯ อาจารย์ขี่ม้าคนถัด ๆ ไปได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นอีกเป็นคราว ๆ เช่น เฟรเดเรโก กรีโซโนซ น่าจักเป็นคนแรกที่ค้นพบวิธีประสานการบังคับและการใช้น่อง ได้จัดพิมพ์หนังสือซึ่งมีผู้นิยมและแปลออกเป็นหลายภาษา การขี่ม้าเจริญขึ้นเป็นลำดับ

ทฤษฏีที่กล่าวมาแล้ว นักม้าชาวอิตาเลียน ชื่อปินยาเตลลี่และลูกศิษย์ฝรั่งเศส วื่อ เดอลาบลู ได้นำมาใช้และดัดแปลงให้ดียิ่งขึ้น เดอลาบลูกลายเป็นบิดาแห่งการขี่ม้าของฝรั่งเศส ได้เขียนหนังสือที่ดีขึ้นหลายเล่มอันเป็นรากฐานความเจริญในการขี่ม้าของ ฝรั่งเศสโดยเท้

โรงเรียนขี่ม้าของฝรั่งเศสกลับมีชื่อเสียง รุ่งเรืองแทนโรงเรียนขี่ม้าเนเปิล ซึ่งเลิกล้มไปโดยสาเหตุการเมือง อาจารย์ขี่ม้าคนสำคัญได้แก่ ปลูวิเนล ซึ่งได้ศึกษาจากโรงเรียนขี่ม้าเนเปิลได้เขียนหนังสือชื่อ การสอนศิลปะการขี่ม้าให้แก่พระราชา เป็นหนังสือที่อ่านสนุกเพราะเนื้อความเป็นไปในทำนองคำสนทนาในระหว่างอาจารย์ ผู้นี้และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ ปลูวิเนล ได้แสดงความเห็นว่าจำต้องเอาใจใส่ให้ทราบลักษณะธรรมชาติของม้าและฝึกม้าให้ เป็นม้าที่ดีได้โดยอาศัยความจำของ
ม้าให้เป็นประโยชน์

ในรัชการของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระองค์โปรดความเอิกเกริกโอ่โถงและพิธีการต่าง ๆ การขี่ม้าจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น พระองค์ได้ทรงสถาปนาโรงเรียนแวร์ไซขึ้น เป็นโรงเรียนก่อนโรงเรียนเซมือ อันมีชื่อเสียงยิ่งอยู่บัดนี้

อาจารย์ขี่ม้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ ๑๘ ได้แก่ เดอลาแกวิเนียลแห่งฝรั่งเศส เขียนหนังสือโรงเรียนทหารม้า อันเป็นหนังสือที่แพร่หลายมาก แสดงให้ทราบถึงความเจริญแห่งศิลปะประเภทนี้ เดอลาแกวิเนียล เป็นผู้ริเริ่มการทำงานสองเส้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฝึกขี่ม้า วิธีการของท่านอาจารย์ผู้นี้ ถูกต้องกับเหตุผลและธรรมชาติ ทั้งยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการทรงตัวของม้าและของผู้ขี่ เดอลาแกวิเนียล มีจุดหมายในการฝึกม้าเช่นเดียวกับเซโนโฟน คือให้ม้าเป็นม้าที่ดีที่สุดสำหนับนายทหารซึ่งในขณะทำการรบ ความปลอดภัยและสมรรถภาพของนายทหารย่อมขึ้นอยู่ที่ม้า อยู่ในอาการบังคับและเชื่อฟังเพียงใด การขี่ม้าของทหารมีความสำคัญขึ้นตามลำดับจนแพร่ไพศาลถึงพลเรือน ฉะนั้น ย่อมไม่เป็นที่น่าสงสัยว่า โรงเรียนการขี่ม้าของทหารย่อมเป็นศูนย์กลางของวิทยาการประเภทนี้ ใน ค.ศ.๑๗๗๑ ยุกแห่ง ชัวเชอล ได้สถานปนาโรงเรียนขี่ม้าที่โซมือ ขึ้นรุ่งเรืองมือชื่อเสียงเทียบเท่ากับโรงเรียนขี่ม้าที่เนเปิล เป็นศูนย์กลางของทหารม้า จากกองทัพนานาประเทศจนทุกวันนี้

คองต์ เดาเออ ผู้บังคับการโรงเรียนในปลายศตวรรษที่แล้วมา ได้ดัดแปลงแก้ไขทฤษฏีการขี่ม้าที่โซมือให้เจริญยิ่งขึ้น โดยดัดแปลงการขี่ม้าขั้นสูงให้สอดคล้องต้องกับความจำเป็นในการขี่ม้าสมัย ใหม่ อันได้แก่การขี่ม้าในภูมิประเทศ

ในปลายศตวรรษที่แล้วมา กองทัพบกอิตาเลียนได้เปลี่ยนแปลงทฤษฎีการขี่ม้าทั่วโลก เฉพาะท่านั่งม้าไปข้างหน้า งานนี้เกิดขึ้นจากความอุสาหะพากเพียร และความรักศิลปะการขี่ม้าของ ร.อ.คาปลิลีลี ท่านผู้นี้มุ่งเอาใจใส่โดยเฉพาะการขี่ม้า
ในภูมิประเทศ ได้เห็นและรู้สึกว่าท่านั่งม้าสมัยเก่าซึ่งผู้ขี่ใช้ โกลนยาว และเอนตัวไปข้างหลังนั้นขัดกับธรรมชาติของม้า จึงทำให้ม้าทำงานได้ ไม่เท่าเทียมกับที่ควร เช่นที่ม้าจะทำได้หากปราศจากผู้ขี่ ท่านั่งม้าที่ไม่เหมาะทำให้ผู้ขี่ทำความ เจ็บปวดให้แก่ปากม้า และเอวม้า ผู้ขี่และม้าไม่ไปด้วยกัน ขัดขืนกันอยู่โดยเฉพาะขณะข้ามเครื่องกีดขวาง คาปลิลีลีพยายามหาหนทางวิธีการต่าง ๆ ศึกษา และทดลองด้วยตนเองอยู่หลายปี ก็ยังหาบรรลุความสำเร็จสมใจไม่ ในครั้งนั้นการขี่ม้าแข่งก็ยังใช้โกลนยาวเช่นเดียวกัน บังเอิญวันหนึ่งในอเมริกา ณ สนามม้าแห่งหนึ่ง คนขี่ม้าคนหนึ่งเกิดอุปัทวเหตุ นั่งตรงอยู่บนหลังม้าไม่ได้ จึงโน้มตัวทาบไปบนคอม้า ม้าตัวนั้น ไม่ใช่ม้าตัวเก็งและไม่เคยชนะมาก่อน เลยกลับชนะเป็นหนึ่ง ทิ้งตัวอื่น ๆ ไกล คาปลิลีลี รู้กิตติศัพท์ จึงนำมาทดลองกับการขี่ม้าของตนบ้าง ได้ผลคือ ม้าทำงานได้ดีขึ้น มือไม่รบกวนปากม้าเช่นก่อน การบังคับม้ากระทำได้ดี แต่จำต้องร่นสายโกลนให้สั้นเข้า จึงจะสะดวก คาปลิลีลีทดลองทฤษีของตน ประกอบกับหลักวิชาจนได้ผล แล้วนำออกแสดงให้โลกทราบ โดยขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางสูง ๒ เมตร ๒๐ เซนติเมตร ที่เมือง ดุริน ได้สำเร็จอย่างสะดวกและงดงาม เป็นที่พิศวงโดยทั่วไปทุกประเทศ คาปลิลีลีทำให้เกิดปัญหาขึ้นในวงการขี่ม้าอิตาเลียน ถกเถียงทดลองกันอยู่เป็นเวลานาน จึงเห็นคุณค่าโดยแท้จริง และยอมรับทฤษฎีของคาปลิลีลีมาใช้สำหรับกองทัพบก คาปลิลีลีถูกแต่งตั้งให้เป็นครูขี่ม้าแห่งโรงเรียนขี่ม้า พินเนโรโล มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงทั้งชาวอิตาเลียนเอง และชาวต่างประเทศอีกเป็นอันมาก คาปลิลีลีตกม้าตายหลังจากที่ได้ตกมาแล้ว ๔๐๐ กว่าครั้ง ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ จะเกิดขึ้น และขณะที่กำลังจะได้รับยศเป็นพันตรี

 

จะแข่งม้า(ขี่ม้า)ยังไงถึงจะได้เหรียญ

โดย… Monty & Me

กล่าวนำ …หลายครั้งหลายหน หลายคนเคยมาถามผม เกี่ยวกับเคล็ดลับความสำเร็จ ในการแข่งขันขี่ม้า ว่า ? ทำยังไงถึงจะประสบ ความสำเร็จ ในการแข่งขันฯ ? เขาเหล่านั้นถามผมในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ และผมก็ตอบซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้งกับคำถามนี้ เลยมานั่งคิดว่า….ไหนๆก็ต้องตอบคำถามนี้บ่อยๆแล้ว ก็ลองเขียนออกมาเป็นบทความเลยดีกว่า …….. ซึ่งจริงๆแล้ว หลักๆมัน ไม่ยากอย่างที่ใจเรานึก, กลัวและกังวลไปเอง มันมีหลักคิดง่ายๆไม่กี่อย่าง โดยผมจะลองลำดับความคิดออกเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

* ทำเพราะความรัก ความเข้าใจในกีฬาขี่ม้าอย่างแท้จริง ผมหยิบมาเป็นสิ่งแรกที่ต้องคุยกันเลย เพราะกีฬาขี่ม้าไม่เหมือนกีฬา ประเภทอื่น เพราะอุปกรณ์กีฬาของเรา มีชีวิต มีความคิด มีจิตใจ มีความรู้สึก มีความนึกคิดเป็นของมันเอง ? นั่นก็คือม้าของเรา นั่นเอง ต้องยอมรับความจริงว่า ในการแข่งขัน นอกจากความพร้อมของผู้ขี่แล้ว ยังต้องมีความพร้อมของม้าด้วย ม้าและผู้ขี่คู่ไหน ทำได้ดีที่สุดในวันนั้นคือ ผู้ชนะ บางครั้งเราพร้อมเราตั้งใจ แต่ม้าเขาป่วยไม่สบาย ไม่มีแรง เราก็ต้องรับความจริงข้อนั้นให้ได้ อย่าไปดุ ทำโทษ เขา และมีความพลอยยินดี ทุกครั้งที่เห็นคนที่ทำได้ดีกว่าเขาเป็นผู้ชนะ เลิกโทษคนอื่น และตั้งเป้า เอาไว้ว่า สักวันนึงเราจะทำได้ * ถามตัวเองว่าตอนที่อยู่ในสนามแข่งขันคุณแข่งอยู่กับใคร ………….ซึ่งก่อนอื่นนักขี่ม้าทุกคนต้องตอบคำถามนี้ให้ได ้เสียก่อน…. ในสนามแข่งขันขี่ม้านั้น จะมีแค่คุณกับม้าของคุณเท่านั้นที่อยู่ในสนาม (ส่วน คนดู, ครูผู้ฝึกสอน, โค๊ช, อดีตนักกีฬา ทีมชาติหลายสมัยที่เป็นตัวเก็ง, ตลอดจน กรรมการตัดสิน ซึ่งพวกคนเหล่านี้ล้วนแล้วต้องอยู่นอกสนามแข่งขันทั้งหมด) คุณไม่ต้องเอาม้าของคุณไปวิ่งแข่งกับม้าของใคร เหมือนพวกม้าแข่ง( Racing Horses) คุณไม่ต้องไปออกแรงไปงัดข้อกับใคร คุณไม่ต้องไปแย่งลูกบอลจากใครในสนามแข่งขัน เพราะในสนามแข่งขันขี่ม้านั้น( Equestrian) จะมีแค่คุณกับม้าของคุณเท่านั้น ที่อยู่ในสนาม คุณต้องแข่งกับตัวเองต่างหาก…และถามต่อไปอีกว่าจะแข่งยังไงหล่ะ ? …ตรงนี้ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า ก่อนแข่งคุณซ้อมจากที่บ้านมาดีหรือไม่ ดีพอหรือยัง ถ้าซ้อมมาอย่างดีแล้ว แค่เพียงคุณทำได้เหมือนซ้อมที่บ้าน แข่งกับตัวเอง แค่นี้คุณก็คือผู้ชนะแล้วในเกมการแข่งขัน นั้นๆ…..ทั้งใน Dressage ก็ดี หรือ Show Jumping ก็ดี ยกตัวอย่างเช่น ถามว่าใน Dreassage ถ้าคุณไม่ตื่นเต้นและเกร็งคู่ต่อสู้ หรือม้าของผู้ต่อสู้ และคุณเตรียมตัวทำ Test มาอย่างดี รู้จุด,รู้มุมเลี้ยว ชัดเจน, ไม่ตื่นเต้นกังวล, มีสมาธิใจไม่วอกแว่ก และที่สำคัญมีความสุขกับการขี่ม้าของคุณ แค่นี้แหล่ะคุณก็มีโอกาสคว้าเหรียญ รางวัลเหรียญใดเหรียญหนึ่งจากการแข่งขันมาครองแล้ว หลักคิดเดียวกันแถมชัดเจนมากขึ้น ใน Show Jumping แค่คุณมีสมาธิ, ไม่ตื่นเต้น, กลัวนั้นกลัวนี่, ทำให้ได้เหมือนตอนที่ซ้อม, Walk Course ให้มั่นใจ รู้จุด เลี้ยว มุมเข้าเครื่อง, รู้ speed ที่ใช้ กับเวลาที่มี ….คือสรุปว่า ถ้าแค่ม้าของคุณไม่เตะเครื่องตก หรือปฏิเสธเครื่องแล้วหล่ะก็ คุณก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะในเกมแข่งขันนั้นแล้ว

* ถามตัวเองว่าเรากับม้าของเรานั้น รวมกันแล้วมันอยู่ระดับไหน ….. .ในระบบการแข่งขันขี่ม้าจะแบ่งเป็นระดับความยากง่ายของ Course ซึ่งจะกำหนดชัดเจน จาก Dresaage Test ก็ดี หรือจาก ระดับความสูงของเครื่องกระโดดก็ดี หรือจากการแบ่งห้วงอาย ุของผู้เข้าแข่งขันก็ดี กติกาเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นสากล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอยู่แล้ว ?. มีเรื่องเล่า เอาเรื่องของตัวเอง ก่อนดีกว่า …. ผมคัดตัวติดทีมชาติครั้งแรก (ครั้งเดียว) และได้เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์เลย ? จะเริ่มยังไงดี เอาแบบ ไม่ยาว สั้นๆ กะทัดรัด ได้ใจความ และไม่อยากให้คนหมั่นไส้ด้วย คืออย่างนี้…. ที่ผมจะเล่าให้ฟังอย่างไม่อาย ก็คือ ตอนที่ผมติดทีมชาตินั้น ผมยังไม่เคยแข่งได้ถ้วย Dressage ระดับ Elementary เลย แล้วผมก็ไม่เคยแข่งกระโดดเกิน 1.20 เมตรด้วย แต่ผมเคยชนะการ แข่งขันศิลปะการบังคับม้า ระดับ Novice, ผมเคยชนะการแข่งขันขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีด ขวางระดับ 105, 110 ซม. หลายครั้ง หลายหน จนมีคนหลายคนพอที่จะรู้จักบ้าง พอถึงเวลาเขาคัดตัวทีมชาติ Eventing ตอนนั้นแข่งระดับ one star ซึ่งเขาใช้ แค่ ระดับ Novice Tests กระโดดก็แค่ ไม่เกิน 110 ซม. ก็เลยมีรายชื่อเข้าไปคัดตัวกับเขาด้วย จนได้เป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้…. เพราะฉะนั้นผมกำลังจะบอกว่า จำเป็นหรือไม่ที่เวลา
เราจะต้องเลือกระดับการลงแข่งนั้น ต้องเลือกในสิ่งที่ทำได้ไปทั้งหมด ผมตอบเลยว่าไม่จำเป็น ม้าคุณทำ Half Pass, Sholder In ได้ แต่คุณยังไม่เคยสักครั้งที่จะได้ถ้วยชนะเลิศ Novice เลยสักกะใบเดียว แค่เคยได้ โบว์แดง, โบว์เหลือง จำเป็นเหรอที่คุณจะ เอาม้าไปแข่ง Elementary หรือ M level กะอีแค่มันทำ Counter Canter, หรือ Flying Change ได้ หรือม้าของคุณซ้อมอยู่ที่ สโมสร เคยกระโดดสูงได้ 1.30 แค่เครื่องสองเครื่อง จำเป็นหรือเปล่าที่คุณจะเอามันลง ในการแข่งขันระดับความสูงนั้นใน matt ใหญ่ๆ คุณมั่นใจได้อย่างไร ว่ามันจะมีแรงกระโดดให้คุณจนครบ Course ผมจะบอกให้ว่า…. ในความยากง่ายของสนามแข่งขันนั้น มันไม่ใช่มีแค่ความสูงของเครื่องกระโดด เท่านั้น มันยังมีอีกหลายอย่างที่ผู้ออกแบบสนามเขา ออกแบบมาให้คุณได้ทดสอบ ฝีมือกัน มันยังมีทั้ง จุดเลี้ยว มุมที่จะเข้าเครื่อง เส้นทาง ระยะห่างระหว่างเครื่อง ชนิดของเครื่อง กระโดด และมีอะไรอีกมากมาย ซึ่งผู้ที่จะเป็นผู้ออกแบบสนามนั้น เขาต้องไปร่ำเรียนมา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คุณต้องเอาชนะ มันให้ได้ก่อน ในแต่ละระดับ ค่อยๆผ่านมันไปทีละขั้นๆ ไม่ต้องรีบ…… เดี๋ยววันนั้นมันมาถึงเอง

* สรุปก็คือ มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ ต้องรู้ตัวเอง และแข่งกับตัวเอง ….ที่สำคัญที่สุด ต้องทำด้วยความรัก ความเข้าใจ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีน้ำใจเป็นนักกีฬา ….เท่านั้นเองครับ เคล็ดลับของผม !

 

คลีนิคหมอม้า

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศทีมีอากาศร้อนชื้น สภาพอากาศจึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลากชนิด ม้าส่วนใหญ่ที่เป็นม้ากีฬาก็มักสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ และมาจากประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เพราะฉะนั้นการจะดูแลให้ม้ามีสุขภาพดี ผิวพรรณสดใส ปราศจากโรค จึงต้องอาศัยความพยายาม ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องหมั่นทำความสะอาดตัวม้าอย่างถูกวิธี โรคยอดอิตอันดับหนึ่งที่อยากให้พวกเรารู้จัก ที่มักจะเกิดกับม้าที่อยู่ในบ้านเรานั่นคือ

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราหรือขี้กลาก

เป็นโรคที่แพร่กระจายโดยการสัมผัสโดยตรง ส่วนมากเกิดจากการใช้เครื่องม้า หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดร่วมกัน ภาวะของโรคสามารถแพร่ระบาดไปยังคนได้ เพราะฉะนั้นคนเลี้ยงหรือผู้ขี่จึงต้องระมัดระวังให้ดี

สาเหตุของโรค
การติดต่อของเชื้อปกติจะผ่านการสัมผัสโดยทางอ้อม เช่น การแปรงทำความสะอาจ ผ้าขนหนู อานม้า สายรัดทึบ เป็นต้น มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นผ่านการสัมผัสโดยทางตรงกับม้าป่วย โอกาสของโรคที่จะเิกิดสูงมากยิ่งขึ้นเมื่ออากาศร้อนชื้น แต่ถ้าอยู่กลางแสงแดดจ้าจะมีผลให้สามารถยับยั้งพวกเชื้อราทุกชนิดได้ สปอร์เชื้อพวกนี้จะมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน อาจยืนยาวเป็นเวลาหลายปี

อาการของโรค
อาการที่เห็นเริ่มต้นม้าจะแสดงอาการคันรุนแรง โดยการถูคอก เนื่องจากม้าไม่มีนิ้วมือเอาไว้เกาเหมือนคน ซึ่งเราอาจไม่สามารถไปนั่งเฝ้าดูอาการทั้งวันได้ เราก็อาจดูได้จากลักษณะภายนอก เช่น เฉพาะบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ขนบางบริเวณอาจตั้งชัน หรือขนสั้นลง หรือขนร่วง ซึ่งเิกิดจากการถูนั่นเอง ซึ่งถ้าปล่อยไว้ ก็จะทำให้เิกิดแผล และ การลามของเชื้อรา หรืออาจเิกิดเป็นแผลติดเชื้อได้ จากที่กล่าวข้างต้น การแพร่ระบาดของโรค มักเิดจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ร่วมกันนั่นเอง

การดูแลรักษา
ส่วนใหญ่โรคผิวหนังพวกนี้ จะเกิดเป็นเฉพาะบริเวณ ถ้าเลี้ยงโดยการปล่อยแปลง อาจหายเองได้ แต่ต้องใช้เวลาหลายเดือน และมีโอกาสติดต่อกันได้สูง ความสำคัญคือการจำกัดการแพร่ระบาด หรือการลามของเชื้อ อาจช่วยได้โดยให้ยาฆ่าเชื้อรา ทาเฉพาะบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ เช่น ยาแค็ปแทน ซึ่งมีราคาไม่แพงและใช้กันอย่างแพร่หลาย มีลักษณะเป็นผง ทำเป็นสารละลาย ๓ เปอร์เซนต์, ยาไอโอดีน(ไอโอดีน ๑ เปอร์เซนต์) และสารซัลเฟอร์ในปูนขาว ๓ เปอร์เซนต์ ทาเฉพาะบริเวณ เป็นต้น
โดยทั่วไป พบว่าการใช้ยาแนทตามัยซิน ทาในรายที่เป็นโรคเชื้อราขี้กลากแบบทั่วตัวในบางรายได้ผลดี หรืออาจร่วมกับการกินยาปฏิชีวนะกรีสซีโอฟูลวิน ขนาดประมาณ ๑๐ มก.ต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลา ๑ – ๒ เดือน แต่เนื่องจากราคาค่อนข้างแพงจึงไม่ค่อยนิยมแพร่หลาย

โรคเสียดท้อง

มักเกิดจากปัญหาการเลี้ยงดู ให้อาหาร และงานไม่สัมพันธ์กัน โดยไม่คำนึงถึงหลักธรรมชาติ โดยจะเกิดปัญหากับระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากความเครียดทางด้านจิตใจของม้าก็ได้

อาการของโรคที่พบ
ม้าจะมีอาการซึม ไม่กินข้าว ไม่กินน้ำ ได้แต่มาดมๆเท่านั้น และเมื่อเริ่มมีอาการเพิ่มขึ้นม้าจะเริ่มปวดแน่นท้อง โดยจะแสดงอาการใช้ขาคุ้ยพื้น เหลือบมองท้อง ล้มตัวลงนอน หรือ ผลุดลุก ผลุดนั่ง ต่อมาจะพยายามเบ่งท้อง เหมือนจะพยายามถ่ายอุจจาระ จนหมดแรง มันก็จะล้มตัวลงนอน และแสดงอาการทุรนทุรายออกมาให้เห็นชัด

สาเหตุของโรค
สำหรับโรคเสียดนั้นมีมาจากหลายสาเหตุ เช่น ร่างกายขาดน้ำ, มีพยาธิ์, เชื้อราบางชนิด, ขาดสารอาหารไฟเบอร์ซึ่งช่วยในการขับถ่า์ย, ปรับสภาพอาหารใหม่ไม่ทัน, มีสิ่งแปลกปลอมปนกับอาหาร, อาหารข้นไม่มีคุณภาพ, การออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ หรือ ให้อาหารก่อนหรือหลังใช้งานโดยกระทันหัน หรือ รวถึงความเครียดของม้าที่ต้องอยู่ในคอกแคบๆ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น โดยสามารถแยกชนิดของโรคเสียดได้ดังนี้
๑. เสียดบริเวณกระเพาะอาหาร เกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยไม่หมดของอาหาร หรืออาจเกิดจากความเครียดของม้า ซึ่งจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร
๒. เสียดบริเวณลำไส้เล็ก อาจเิกิดจากลำไส้พันกันหรือภาวะลำไส้อักเสบรุนแรง
๓. เสียดบริเวณลำไส้ใหญ่ อาจเกิดจากอาหารไม่ย่อยแล้วอุดตันในลำไส้ใหญ่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรืออาจเกิดจากการบิดของลำไส้ เป็นต้น

การป้องกันและการรักษา
หมั่นตรวจดูการกิน การขับถ่าย ของม้าอย่างสม่ำเสมอ, เลือกใช้อาหารข้นที่มีคุณภาพ มีสารอาหารครบตามที่ม้าต้องการ, เพิ่มเกลือแร่ Electrolyte เพื่อดึงน้ำไว้ในร่างกาย, ลดภาวะที่เิกิดจากการเครียดของม้า เช่น พาม้าไปออกกำลังกาย กินหญ้า ปล่อยแปลง ฯลฯ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

โรคไข้ลงกีบ (Laminitis)

ลามิไนทิส คือ การอักเสบของเยื่อ ลามิน่าในกีบ ทำให้เิกิดการเจ็บปวดอย่างรุนแรง

สาเหตุของโรค
กินเมล็ดพืชหรือข้าวเปลือกมากเกินไป ทำงานบนพื้นที่แข็ง มีไข้สูง เกิดจากการเกิดโรคอื่น เช่น เสียด หรือมีอาการติดเชื้อรุนแรง

อาการของโรค
ม้าแสดงอาการเจ็บขาหน้าแต่อาจเป็นทุกขา ลังเลที่จะเคลื่อนไหว ดึงขาหลังไว้ในตัว(ยืนถ่ายนำ้หนักไปขาหลัง) อุณหภูมิที่เท้าสูงขึ้น ชีพจรที่ข้อเท้าแรงขึ้น

การดูแลรักษา
๑. ยาแก้ปวด – โนวาซิเลน
๒. ยาแก้อักเสบ – บิวตาโซน ฟีนิลอาร์ไทด์
๓. ให้นำ้เกลือ เพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนและทำให้เส้นเลือดบริเวณกีบขยายตัว
๔. ยืนบนพื้นนิ่ม เช่น แกลบหนาๆ
๕. ให้ยาชาตามเส้นประสาทเพื่อให้ม้าเดิน
๖. แต่งกีบช่วย

หมายเหตุ จุดมุ่งหมายการรักษาเพื่อป้องกันการเคลื่อนของกระดูกในกีบ

การควบคุมป้องกัน
๑. หลีกเลี่ยงการให้อาหารเมล็ดพืชมากเกินไปในสัตว์ทำงานน้อย
๒. หากเกิดโรคบางอย่าง เช่น เกิดเสียดนานๆ หรือโรคติดเชื้อที่มีการสร้างสารพิษ เช่น ท้องเสีย ควรให้ยา (DMSO 1 cc./kg. 3 วัน) และน้ำเกลือ เพื่อลดโอกาสเกิดลามิไนทิส

อยากขี่ม้าเตรียมตัวอย่างไร?

อยากขี่ม้าเตรียมตัวอย่างไร?

ก่อนที่จะเริ่มไปฝึกหัดขี่ม้านั้นเคล็ดลับความสำเร็จที่จะต้องถามตัว เองเสียก่อนว่า ?เราพร้อมหรือยัง? รีบถามตัวเองเสียก่อนจะตัดสินใจ มิฉะนั้นแล้วการขี่ม้าอาจจะไม่เป็นไปตามจินตนาการที่เราได้วาด ฝันเอาไว้ รวมถึง ถามตัวเองว่าคุณมีในสิ่งเหล่านี้ครบแล้วหรือยัง

1. เวลา
การฝึกหัดทำอะไรก็ตาม เมื่อหัดใหม่ ๆ ต้องมีเวลาให้อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับการขี่ม้า คุณต้องมีเวลาอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือยิ่งมีมากเท่าไรได้ยิ่งดี เพราะความต่อเนื่อง จะทำให้คุณขี่ม้าเป็นเร็วขึ้น แต่ถ้าคุณขี่ ๆ หยุด ๆ ยกตัวอย่างเช่น ขี่สัปดาห์ละครั้งหรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หายไปอีก 2 สัปดาห์ กลับมาขี่อีก 5 ครั้ง อย่างนี้ชาติหน้าก็ขี่ไม่เป็น แต่การขี่ม้านั้น ถ้าขี่เป็นแล้ว เข้าใจหลักของการบังคับแล้ว จะชี่เป็นเลย นั่นหมาย ความว่าไม่ได้ขี่เป็นปีๆแล้วกลับมาขี่ใหม่ก็ขี่ได้ เช่นเดียวกับการขับรถ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า ต้องขี่ให้เป็นเสียก่อน เมื่อขี่เป็นแล้วจะขี่ม้าเพื่อเป็น การออกกำลังกายก็ไม่จำเป็นต้อง มาขี่บ่อย แต่ถ้าอยากจะเป็น นัก กีฬาขี่ม้าแล้ว ยังไงๆก็ต้องขี่ม้าทุกวัน

2. การสนับสนุน
การสนับสนุนที่ดี ส่งผลเป็นอย่างมากสำหรับโอกาสในการขี่ม้าที่ก้าวหน้าและได้ผล อาทิ การสนับสนุนจากผู้ปกครองเริ่มตั้งแต่การมารับ-ส่ง ตลอดจนการจัดหาเครื่องแต่งกาย, อุปกรณ์ สำหรับม้า หรือจนกระทั่งถึงการซื้อม้า (ในกรณีที่อยากมีม้าเป็นของตัวเอง) รวมถึงการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา เพราะ เมื่อเป็นนักกีฬาแล้ว บางครั้ง ตารางการแข่งขันไม่ตรงกับวันหยุดก็อาจจะมีผลกระทบได้ ตลอดจนความเข้าอกเข้าใจของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนรัก ต้องเข้าใจว่าการขี่ม้านั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง (ก่อนขี่ ระหว่างขี่ และหลังขี่) อาจจะทำให้กระทบกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้

3. ความกล้า
การขี่ม้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่จะต้องอาศัยความกล้า เพราะเมื่อเราขึ้นไปอยู่บนหลังม้าแล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้นั้นคือ เราจะต้องทำให้ม้าเกิดความมั่นใจตัวเราว่าเราสามารถบังคับเขาได้ (เราเป็นนายม้า ไม่ใช่ให้มันเป็นตัวพาเราไป) สำหรับการขี่ม้า ผู้ขี่เป็นคนบังคับให้ม้าเดิน วิ่ง หยุด ตามที่ต้องการ เราจะเคยได้ยินเสมอสำหรับสุภาษิตไทยที่ว่า ?กุมบังเหียน? นั้นหมายถึงผู้ขี่ม้านั้นสามารถบังคับม้าไปในทิศทางใดก็ได้ตามใจปราถนา ซึ่งเราต้องกล้าที่จะออกคำสั่งให้ม้าทำตามเรา, ต้องสามารถสื่อสารกันให้เข้าใจ ทั้งๆที่เราไม่สามารถพูดกับเขารู้เรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำง่ายๆ การขี่ม้าจึงสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย แต่ถ้าคุณสำรวจตัวเองแล้วว่าเป็นคนขี้กลัว ตกใจง่าย หล่ะก็ กีฬาขี่ม้าน่าจะไม่เหมาะกับคุณและเมื่อคุณสามารถจัดการกับ ข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ เลือกสถานที่จะเรียนขี่ม้า และครูสอนขี่ม้า ปัจจัยตรงนี้มีผลมากเนื่องจากบางครั้งสถานที่ขี่ม้าสะดวก (ใกล้บ้าน) แต่ครูไม่ถูกใจหรือครูถูกใจแต่ไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่สามารถไป-มา บ่อย ๆ ได้ โรงเรียนขี่ม้าบางที่มีข้อจำกัดในการรับสมาชิกจำนวนมากๆ บางโรงเรียนอัตราค่าขี่ม้าแพง ซึ่งคนฐานะปานกลางส่วนใหญ่สู้ไม่ไหว และอีกมากมายหลายเหตุผล

โรงเรียนขี่ม้า
การเริ่มต้นเรียนขี่มาจากโรงเรียนที่ดีย่อมเกิดประโยชน์กับตัวนักเรียนเอง เป็นอย่างมาก การเรียนขี่ม้าจากโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพงหรือถูก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรงเรียนที่ดีหรือไม่ดี เพราะโรงเรียนขี่ม้าที่ดีนั้น ย่อมต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และมีครูที่ดีซึ่งได้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี นอกจากนี้การเตรียมสถานที่เรียนให้เหมาะสมกับสภาพการที่จะเรียนขี่ม้าก็มี ความสำคัญเป็นอย่างมาก อาทิ การเตรียมสนามขี่ม้า การเตรียมการเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ การเริ่มต้น จากโรงเรียนที่ไม่ดีเท่ากับว่าจะเสียเวลาในการเริ่มต้นไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งการที่คุณเลือกเดินทางมาหาเรานั้น บอกได้เลยว่า คุณตัดสินใจถูกแล้ว ชมรมขี่ม้าทหารม้ารักษาพระองค์ นั้น ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของกีฬาขี่ม้าในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

ครูขี่ม้า
ครูขี่ม้าที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการขี่ม้าเป็นอย่างมาก เพราะการขี่ม้านั้น จัดว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้ที่ขี่ม้าเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นครูฝึกม้าที่ดีเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการถ่ายทอดของแต่ละบุคคล ครูขี่ม้าที่ดีต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนได้และต้องสามารถถ่ายทอด ให้นักเรียนได้เข้าใจถึงวิธีบังคับม้าที่ถูกต้อง และต้องคอยแก้ไขปัญหาต่างๆอันเกิดจากการขี่ม้าให้แก่นักเรียนได้ทุกเวลา ครูขี่ม้าที่ดีต้องมีความละเอียดรอบคอบอย่างสูง มิฉะนั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่นักเรียนและม้าได้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เป็นได้

อุปกรณ์ในการขี่ม้า
อุปกรณ์ในการขี่ม้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ออกแบบและพัฒนาเพื่อนักขี่ม้าโดยเฉพาะ มุ่งเน้นในเรื่องการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และยังช่วยให้สามารถบังคับม้า หรือสื่อสารความเข้าใจระหว่างผู้ขี่ม้ากับม้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุด คุณกับม้าของคุณจะเข้าขากันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับม้าของคุณ ซึ่งอาจแยกได้เป็น อุปกรณ์คน และอุปกรณ์ม้า

อุปกรณ์คน

1. หมวกกันน๊อค ซึ่งที่นิยม มีใช้กันอยู่ 2 ชนิด คือ
– HARD HAT ทำด้วยวัสดุไฟเบอร์ มีความหมายแข็งแกร่ง ทนทาน สามารถทนแรงกระแทกจากภายนอกได้ ภายในบุนวมเพื่อให้กระชับศรีษะ และมีกระบังหมวกช่วยป้องกันอันตรายกับจมูกและส่วนของใบหน้าขณะตกม้า ส่วนขนาดควรเลือกขนาดที่พอดีกับศีรษะ ไม่ควรเลือกขนาดใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะเกิดปัญหาหมวกหล่นปิดหน้าในขณะที่ขี่และอาจจะหลุดหรือไม่สามารถป้อง กันศรีษะที่บอบบางของเราไว้ได้ และไม่ควรเลือกหมวกที่แน่นจนเกินไปซึ่งจะทำให้ผู้ขี่เองเกิดอาการมึนศรีษะ ได้
– CRASH HELMET เป็นหมวกขี่ม้าอีกแบบหนึ่งที่มีความแข็งแรง และสามารถรองรับความปลอดภัยได้ดีกว่า HARD HAT หมวกชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อสามารถรับแรงกระแทกอย่างรุนแรงในขณะตกม้าด้วยความ เร็วสูง มักนิยมใช้ในการขี่ม้าในภูมิประเทศ เป็นต้น

2. กางเกงขี่ม้า มีนิยมด้วยกัน 2 แบบ คือ
– BREECHES คือ กางเกงขี่ม้าที่ปลายขารัดเหนือข้อเท้า มีทั้งแบบมีปีก และไม่มีปีก ส่วนสีนั้นแล้วแต่ความนิยม ส่วนสีที่ใช้ในการแข่งขัน คือ สีขาว หรือสีครีม กางเกงชนิดนี้ใช้ใส่กับรองเท้า BOOT ทรงสูงเท่านั้น
– JODHPURS คือ กางเกงขี่ม้าอีกแบบที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ BREECHES เพียงแต่ต่างกันตรงปลายขา กางเกงนี้ใช้กับรองเท้าหุ้มข้อ
ส่วนการติดแผ่นหนังก็แล้วแต่ชนิดอาจติดด้านในขา หรือบริเวณก้นยาวไปยังเข่าด้านในก็ได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ขี่ยึดติดกับอานม้ามากยิ่งขึ้น แต่การรักษาสภาพหนังต้องระวัง เพราะหากผู้ขี่ใช้เตารีดรีดบริเวณหนังจะทำให้หนังแข็งตัวเร็วหมดสภาพ และทำให้ผู้ขี่บาดเจ็บ เนื่องจากการเสียดสีกับร่างกายในขณะที่ขี่ม้า

3. รองเท้าขี่ม้า
มี 2 ชนิด คือ
– BOOT หรือเรียกว่า รองเท้าขี่ม้าทรงสูงครึ่งน่อง สุดแล้วแต่จะยาวครึ่งน่องหรือยาวจนถึงใต้เข่า ทำจากหนังสัตว์หรือจากยาง ซึ่งมีราคาต่างกัน ปลายรองเท้าควรเรียวตามรูปเท้าส่วนพื้นรองเท้านั้นควรเรียบ เพื่อป้องกันอันตรายหากผู้ที่ขี่ตกม้า เท้าจะได้ไม่ติดอยู่ภายในโกลน
– ANKLE BOOT หรือรองเท้าขี่ม้าหุ้มข้อ ส่วนมากจะใช้กับกางเกง JODHPURS

4. GLOVES ถุงมือขี่ม้า
ทำจากหนังหรือผ้า มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแบบ แต่จะมีการเสริมความแข็งแรงบริเวณระหว่างนิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ เพราะเป็นบริเวณที่สายบังเหียนจะผ่านเข้าในมือผู้ขี่ ช่วยลดความเสียดสีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้นิ้วมือพองได้

5. เสื้อ
โดยปรกติเสื้อที่ใส่ไม่ควรรุ่มร่าม หรือมีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เกะกะต่อการบังคับม้า ควรแต่งกายในชุดสุภาพ เสื้อควรเป็นเสื้อคอปกจะแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ สำหรับการแข่งขันควรใส่เสื้อ JACKET หรือสูท (ขี่ม้า) สำหรับสูทควรเป็นสีน้ำเงิน หรือดำ สำหรับสีแดงนั้น จะใช้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญการขี่ม้าในการกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางเท่านั้น

6. WHIP
แส้ เป็นเครื่องบังคับม้ารอง ช่วยในการบังคับม้าในกรณีที่แรงน่องของผู้ขี่ไม่พอ และเอาไว้ลงโทษม้าในกรณีไม่เชื่อฟังผู้ขี่ และในทางจิตวิทยาต่อม้าเมื่อผู้ขี่ถือแส้ ม้ามักจะไม่กล้าเกเร แส้แบ่งออกเป็นแส้สั้น (JUMPING WHIP) และแส้ยาว (DRESSAGE WHIP)

7. SPUR
เดือย เป็นเครื่องมือบังคับรอง ใช้สำหรับเตือนม้าโดยสวมทับรองเท้าขี่ม้ ช่วยเสริมให้บังคับม้าได้ดีขึ้น เมื่อต้องการฝึกหรือใช้ในการแข่งขัน SPUR มีมากมายหลายสิบแบบแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน (ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะผู้ที่ขี่ม้าเป็นแล้วเท่านั้น)

อุปกรณ์ม้า
ในการเรียนขี่ม้า สิ่งที่จำเป็นที่นักเรียนควรทราบ ก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้อยู่กับตัวม้าว่ามีอะไรบ้าง มิฉะนั้นเราจะเสมือนผู้ที่อาศัยอยู่บนหลังม้า โดยไม่เข้าใจการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เลยว่ามีผลต่อตัวม้าอย่างไร และจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนควรจะจับม้าและผูกเครื่องม้าเป็นสำหรับ อุปกรณ์มีดังนี้

1. ขลุมบังเหียน (BRIDLE) ส่วนใหญ่จะทำมาจากหนังสัตว์ ซึ่งประกอบกันเข้ามีรายละเอียดหลายอย่าง มีชื่อเรียกแต่ละชิ้นแต่ต่างกันออกไป ตำแหน่งที่ประกอบกันเข้าไว้ ซึ่งจะยึดอยู่บนศีรษะม้า
2. เหล็กปากม้า (BIT) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
– เหล็กปากอ่อน SNAFFLE BIT จะเป็นเหล็กปากม้าที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ตามปกติทั่วไป ในการบังคับม้าในทุกระดับฝีมือในการขี่ม้า
– เหล็กปากแข็ง CURB BIT จะใช้ประกอบกับเหล็กปากอ่อน รวมเป็นบังเหียนสี่สาย ที่ใช้ในการบังคับม้าชั้นสูงและในพิธี หรือพระราชพิธีของกองทหารม้าในการสวนสนาม
3. ผ้าปูหลังม้า (NUMNAH OR SADDLE CLOTH)
ใช้ปูใต้อานม้า เพื่อป้องกันส่วนของตะโหงกม้า ไม้ให้เสียดสีกับอานม้าโดยตรงซึ่งจะทำให้หลังแตก นอกจากนี้ยังช่วยในการซับเหงื่อม้าในขณะผูกอานมิฉะนั้นจะทำให้อานม้าลื่น หรือหลุดจากหลังม้าหรือขยับที่ได้ ผ้าปูหลังมีแบบต่างๆ มากมาย วัสดุที่ใช้ทำผ้าปูหลังอาจทำจาก ผ้าฝ้าย ลินิน ฟองน้ำ หรือหนังแกะก็ได้
4. อานม้า (SADDLE) มีแบบที่แตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดการใช้งาน แต่ส่วนประกอบหลัก ๆของอาน จะประกอบไปด้วย คือ ตัวอาน โกลน, สายโกลน

ในส่วนของอานม้ามีให้เลือกมากมายหลายชนิด แบ่งหลัก ๆ ที่ใช้งาน 3 ชนิด คือ
1. All PURPOSE สำหรับใช้งานทั่วไป
2. JUMPING สำหรับกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง
3. DRESSAGE สำหรับศิลปะการบังคับม้า
พูดถึงอานม้า มีหลายคุณภาพเริ่มจากหนังสัตว์ที่ใช้มาทำอาน นุ่มมาก นุ่มน้อย หนังแท้ หนังเทียม โครงอานข้างในทำด้วยไม้ หรือทำด้วยพลาสติกหล่อสำเร็จรูป วิธีการตัดเย็บหนังขนาดของอาน ความกว้างความลึกของอานตลอดจนกระทั่งผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงหรือไม่ ทำให้ราคาของอานแตกต่างกันออกไป เมื่อจะซื้อควรจะสอบถามจากครูผู้สอนหรือผู้มีความรู้เสียก่อน

5. สายรัดทึบ
เป็นส่วนที่ใช้ยึดอานม้าให้ติดอยู่กับตัวม้า สายรัดทึบนี้อาจจะทำมาจากไนล่อน ด้ายถักหนัง หรือวัสดุอื่น ที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวม้า สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ สายรัดทึบจะต้องไม่คม จนกระทั่ง บาดตัวม้าเพราะอาจจะทำให้เกิดบาดแผล ที่เกิดจากการเสียดสีได้
6. สนับแข้งม้า (BOOT)
สำหรับป้องกันการเสียดสีของขาม้าเวลาเดิน วิ่ง ไม่ให้เกิดบาดแผล ซึ่งมีมากมายหลายแบบให้เลือกตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตลอดไปจนถึงผ้าพันแข้งม้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการเสียดสีแล้ว ยังช่วยกระชับเอ็นขาม้าไม่ให้ยึดอีกด้วย แต่จะเสียเวลามากกว่าในการรัดผ้าพันแข้ง เมื่อเทียบกับการใส่สนับแข้ง

ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ผู้สนใจขี่ม้าควรจะทราบ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ของตัวเองและม้าให้พร้อมสำหรับการฝึกหัดขี่ม้า ปัจจุบันอุปกรณ์ เหล่านี้มีจำหน่ายในประเทศแล้วไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อมาจากต่างประเทศ เหมือนสมัยก่อน ส่วนราคานั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมพิเศษอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง แถมในส่วนของท้ายเรื่อง ในเรื่อง ?ท่านั่งม้าของผู้ขี่? ท่านั่งม้าที่ถูกต้องนั้นจะต้องนั่งหลังตรง โดยยืดตัวตรงให้รู้สึกว่าตัวยาวที่สุดและเหยียดขาลงไปให้รู้สึกว่าขายาวที่ สุดเช่นเดียวกัน ต้องกดส้นเท้าลง โดยสวมโกลนแค่ปลายนิ้วก้อย ไม่สวมโกลนลึกเพราะจะไม่สามารถกดส้นเท้าลงไปได้ บิดปลายเท้าเข้าหาลำตัวม้า แนวแขนท่อนบนเป็นแนวเดียวกับลำตัว แขนท่อนล่างอยู่แนวเดียวกับสายบังเหียน หัวไหล่ทั้งสองข้างแบะออกจนรู้สึกว่าตึงตรงแผ่นหลังซึ่งจะทำให้สามารถยืดอก ได้เต็มที่แต่ไม่ต้องเกร็งลำตัวท่อนบน นั่งไปบนอานม้าให้เต็มก้นเหมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ให้น้ำหนักตัวอยู่ที่ก้น ไม่โน้มตัวไปข้างหน้าเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวไป กดที่ขาหน้าม้า ซึ่งม้าจะไม่สามารถวิ่งเต็มก้าวได้ ลองนึกภาพถึงการเล่นขี่ม้าส่งเมือง ถ้าคนขี่โน้มตัวมาข้างหน้ามาก คนที่เป็นม้าอยู่ข้างล่างจะวิ่งไปข้างหน้าลำบาก ม้าก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน แนวก้น, ส้นเท้า, หัวไหล่, ใบหู ของผู้ขี่จะต้องเป็นแนวเดียวกันเสมอ แค่นี้ก็จะทำให้คุณมีถ้านั่งม้าที่ถูกต้อง สง่า สวยงาม และสามารถบังคับม้าได้ง่ายขึ้นแล้ว
สำหรับคำแนะนำขั้นต้นสำหรับการขี่ม้าก็มีเพียงแค่นี้ หวังว่าคุณคงเป็นอีกคนหนึ่งที่รักกีฬาขี่ม้า มีความรักและเอ็นดูสัตว์ที่น่ารักและแสนฉลาด ซึ่งถ้าคุณทำได้ กีฬาขี่ม้าจะสามารถเปลี่ยนบุคลิกและลักษณะนิสัยของคุณ โดยที่คุณไม่รู้ตัว